
“ชั้นเป็นลูกแม่น้ำ เป็นมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า อยู่กินกับแม่น้ำยมมาตั้งแต่เด็กยันโต... ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น”
คำบอกเล่าจากน้าพิศ คนหาปลาลุ่มน้ำยม ที่ใช้ทั้งชีวิตอยู่ร่วมกับสายน้ำที่หล่อเลี้ยงสุโขทัยมานานแสนนาน
เราเริ่มต้นเดินทางตามคำบอกเล่าของยายปราณี แสนโกศิก อดีตครูโรงเรียนบ้านกงราษฎร์อุทิศ ที่เล่าให้ฟังไว้ว่า เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก แม่ของแกจะนั่งรถประจำทางมาจากน่าน เปลี่ยนต่อรถไม้สองแถวที่แพร่ ล่องเรื่อยมาจนถึงสุโขทัย เป็นเวลาเดินทางร่วมสองวันสองคืนเต็ม เพื่อมาทำ “ปลาย่างเสียบไม้” กลับไปใช้ที่บ้านเกิด เก็บไว้ทำกินตลอดปีจนกว่าจะถึงฤดูกาลถัดไป
“เพราะปลาสุโขทัย เป็นปลาที่ดีที่สุด” ยายปราณีบอก แกยังบอกอีกว่า ถ้าอยากรู้เรื่องปลาแม่น้ำยม ก็ให้ไปดูคนบ้านกง จะได้เห็นว่าเขากินเขาอยู่ เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร
การเดินทางตามหาปลาย่างน้ำยมของแท้ของเราจึงเริ่มต้นขึ้น ...
บทที่ 1 วิถีลูกแม่น้ำที่ตกทอดกันรุ่นสู่รุ่นของคนบ้านกง น้ำพิศ
เราขับรถลัดเลาะเลียบแม่น้ำยม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย จุดหมายปลายทางคือ “ย่านเกาะกง” ซึ่งอยู่ติดกับวัดบ้านกง ไม่ไกลแค่อึดใจ จากโรงเรียนบ้านกง (ราษฎร์อุทิศ) อดีตที่ทำงานของยายปราณีผู้ให้ข้อมูลเราพอดิบพอดี

เกาะกงเป็นพื้นที่เกาะกลางน้ำ ในอดีตเคยเป็นที่ตั้ง ที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศ ภายหลังกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่มีวิถีกินอยู่กับแม่น้ำ บ้านทุกหลังมีเรือพายอยู่ใต้ถุน พอเดือนเจ็ดเดือนแปดน้ำมาก็ท่วมไปเกือบถึงพื้นบ้าน ชาวเกาะกงใช้ชีวิตอยู่ปกติสุขแบบนี้ตลอดมา
เราเดินสำรวจละแวกนั้นจนมองไปเห็นอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ เป็นบ้านใต้ถุนสูงติดริมน้ำ บริเวณแม่น้ำเต็มไปด้วยอุปกรณ์หาปลา เราจึงลองถามจากชาวบ้านแถวนั้นว่า จะข้ามไปอีกฝั่งของแม่น้ำได้อย่างไร
“หนูก็พายเรือข้ามไปสิ มีเรือไหมตรงนั้น” ชาวบ้านแถวนั้นบอกกับเรา “อ้าวไม่มีพาย งั้นคงต้องขับรถไป มีรถมากันไหม” พอเริ่มได้พูดคุยเราก็มารู้ภายหลังว่า คุณพี่ที่ให้ข้อมูลกับเรา แกชื่อพี่อเนก ทำงานอยู่เทศบาล แกชื่นชอบเรื่องราววิถีชีวิตเดิมของคนบ้านกง ที่บ้านแกเองก็พยายามเก็บรวบรวมเครื่องมือหาปลาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู ส่วนวันนี้เป็นโชคดีของเราที่น้ำเข้าใต้ถุนบ้าน แกเลยหยุดงานมาจัดข้าวของจนได้มาเจอกับเรา

พี่อเนกบอกว่า บ้านที่เราอยากข้ามไปหา แกชื่อน้าพิศ บ้านแกมีอาชีพเป็นคนจับปลา เราจึงได้เห็นเครื่องไม้เครื่องมือหาปลาอยู่เต็มไปหมด จากนั้นพี่อเนก ก็เดินไปริมตลิ่ง ก่อนที่จะตระโกนเรียกน้าพิศข้ามฝั่งน้ำไป และน้าพิศก็ตอบรับมา
“น้องเขาเป็นนักศึกษา เขามาทำวิจัย ฝากต้อนรับด้วย” พี่อเนกตะโกนไปอีกฝั่ง
“เอ้อ” คนจากอีกฝั่งตะโกนขานรับ
“ขอบคุณนะ มีอะไรก็บอก แต่เรื่องเงินไม่ต้องบอก..” (ฮา) พี่อเนกว่าไปนั่น
บ้านน้าพิศเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงแบบดั้งเดิมของคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับวิถีน้ำท่วม โดยตั้งอยู่ตรงโค้งน้ำพอดิบพอดี จนเราสามารถมองวิวแม่น้ำได้แบบ 180 องศา
“ชั้นเป็นลูกแม่น้ำ เป็นมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า อยู่กินกับแม่น้ำยมมาตั้งแต่เด็กยันโต... ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น” คำบอกเล่าจากน้าพิศ คนหาปลาลุ่มน้ำยม ที่ใช้ทั้งชีวิตอยู่ร่วมกับสายน้ำที่หล่อเลี้ยงสุโขทัยมานานแสนนาน

“แล้วถ้าช่วงหน้าแล้ง ไม่มีน้ำน้าพิศหาปลาที่ไหน” เราถาม..“ปกติแม่น้ำไม่ค่อยแห้งนะ อย่างปีนี้มีเดือนแปดสองเดือน น้ำเยอะ แต่ถ้าปีไหนน้ำแล้งก็ออกหาปลาตามทุ่ง ตามนา ตามคลองไป” น้าพิศเล่า... ไหนใครว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว นี่มันต้องเปลี่ยนเป็น ในน้ำมีปลา ในนาก็มีปลาต่างหาก (ฮา)
จากเด็กจนโตเรามีคำถามกับตัวเองเสมอว่า ที่เขาว่ากันว่า ปลาสุโขทัยอร่อยหนักหนา แท้จริงมันเป็นปลาสุโขทัยไหมนะ แต่น้าพิศก็ให้คำตอบกับเราไม่ได้ เพียงแต่เล่าได้ว่า ช่วงฤดูน้ำหลาก ปลาเล็กปลานน้อย จำพวกปลาสร้อยปลาทอง จะว่ายทวนน้ำมาจนถึงสุโขทัย พอว่ายตามน้ำท่วมไปเข้าทุ่งเข้านา เจอสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ปลาก็จะทำการขยายพันธุ์ พอถึงช่วงน้ำลง พ่อพันธุ์แม่พันธุ์พร้อมลูกปลา ก็จะว่ายตามลงแม่น้ำ ทำให้บ้านเราปลาชุม ครอบครัวแกเองก็ใช้ชีวิตหาปลาแบบนี้มาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่
ปัจจุบันด้วยอายุอานามที่มากขึ้นตามวัย น้าพิศส่งต่ออาชีพคนหาปลาให้กับพี่ทิน ลูกเขยผู้เป็นกำลังหลักในการหาปลา จากรุ่นสู่รุ่น วิถีลูกแม่น้ำยมถูกส่งต่อกันไป ภาพที่เราเห็นแล้วอดยิ้มไม่ได้คือ ลูกชายวัยประถมของพี่ทิน เริ่มลงเล่นน้ำ พายเรือ ตามพ่อไปจับปลา วิถีลูกน้ำยมจะคงไหลเวียนอยู่ในตัวคนบ้านกงตราบเท่าที่คนที่นี่ยังส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น
ส่วนการหาปลาของคนบ้านกง จะใช้เครื่องมือหลักที่เรียกว่า “สนั่น” ลักษณะคล้ายยอขนาดใหญ่ ติดกับทุ่น มีเรือลากไปตามแม่น้ำ การหาปลาแบบนี้เขาเรียกว่า “งัดสนั่น” จะทำกันในช่วง สาร์ทไทย บาตรข้าวต้ม ออกพรรษา คือสังเกตจากกระแสน้ำหากเริ่มนิ่งสงบ ก็เริ่มฤดูจับปลา
นอกจากเรื่องวิถีลูกแม่น้ำกับการหาปลาแบบฉบับลุ่มน้ำยม น้าพิศยังให้เราดูผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากปลาสร้อยที่แกเป็นคนหา เป็นของขึ้นชื่อของบ้านกง คือน้ำปลาน้านวล ส่วนเมนูเด็ดของน้าพิศนอกจากปลาคล้าวสดๆ ก็จะเป็นปูนาดองน้ำปลาปลาสร้อย ที่ทำได้ทั้งยำ ทั้งแกง ต้ม
ครั้งหน้าเราจะพาไปสำรวจแม่น้ำ กับวิถีชีวิตของคนบ้านกง และการจับปลาเฉพาะถิ่นที่เรียกว่าการงัดสนั่นของลูกแม่น้ำยมคนกงไกรลาศกัน โปรดติดตามตอนต่อไป...
Comments